สามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนฝ่ายหนึ่งปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินอีกฝ่าย ผลเป็นอย่างไร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2516

ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน โดยมิได้จดทะเบียนสมรสทำมาหาเลี้ยงชีพร่วมกันจำเลยกับผู้ร้องได้ร่วมกันปลูกเรือนพิพาทในที่ดินของผู้ร้อง พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าผู้ร้องยินยอมให้ใช้ที่ดินของผู้ร้องปลูกเรือนพิพาทใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยกับผู้ร้องร่วมกัน จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามที่ผู้ร้องยินยอม กรณีเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 109 ไม่ถือว่าเรือนพิพาทเป็นทรัพย์ส่วนควบกับที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ผู้เดียว หากแต่ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยกับผู้ร้องร่วมกัน

เมื่อจำเลยเป็นเจ้าของร่วมในเรือนพิพาท ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยจากการยึดทรัพย์ คงมีแต่สิทธิขอกันส่วนของตนออกมิให้ถูกบังคับชำระหนี้ให้โจทก์เท่านั้น

___________________________


ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นางนบ มีวงศ์ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นภริยาผู้ร้องโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เรือน 1 หลัง ที่บ้าน 1 แปลง และที่นา 1 แปลง ที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้อง ขอให้ถอนการยึด

โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ที่นำยึดนั้นจำเลยและผู้ร้องเป็นเจ้าของร่วมกัน ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ มีสิทธิแต่เพียงขอกันส่วนของตน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้นั้นเสีย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ร้องซื้อที่พิพาทมาก่อนอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของร่วม โจทก์นำยึดไม่ได้ส่วนเรือนพิพาท ผู้ร้องซื้อจากการขายทอดตลาดของศาล แล้วรื้อมาปลูกในที่ดินดังกล่าวระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลย ถือได้ว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์จึงมีอำนาจยึดเรือนพิพาทขายชำระหนี้ได้พิพากษาแก้ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องเฉพาะเรือนพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าผู้ร้องกับจำเลยเป็นเจ้าของเรือนพิพาทร่วมกันนั้น ชอบแล้ว

ที่ผู้ร้องฎีกาว่า เรือนพิพาทเป็นส่วนควบของที่ดิน ต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น เห็นว่า แม้ผู้ร้องกับจำเลยจะเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสแต่ก็ได้มีการประกอบกิจการทำมาหาเลี้ยงชีพ จัดการทรัพย์สินร่วมกัน จนมีทรัพย์สินเกิดขึ้นเป็นเจ้าของร่วมกัน เช่น เรือมาดและอวน เป็นต้น พฤติการณ์เห็นได้ว่าผู้ร้องยินยอมให้ใช้ที่ดินของผู้ร้องปลูกเรือนพิพาทใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยกับผู้ร้องร่วมกัน จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามที่ผู้ร้องยินยอม กรณีเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 109 ไม่ถือว่าเรือนพิพาทเป็นทรัพย์ส่วนควบกับที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ผู้เดียวหากแต่ยังคงเป็นกรรมสิทธิของจำเลยร่วมกับผู้ร้อง เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1856/2512 ระหว่าง นายอิ๋วจัว แซ่ตั้ง โจทก์นายคาร ศรีระ จำเลย นางกันหา คลังใหญ่ ผู้ร้องขัดทรัพย์ เมื่อฟังว่าจำเลยเป็นเจ้าของร่วมในเรือนพิพาท มิใช่เป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียวแล้ว ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยจากการยึดทรัพย์ คงมีแต่สิทธิขอกันส่วนของตนออกมิให้ถูกบังคับชำระหนี้ให้โจทก์เท่านั้นฎีกาของผู้ร้องในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้นดุจกัน

พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

----

บทความที่น่าสนใจ

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

- การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร